ในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก การลงทุนในกองทุนที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นรายตัว จึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆที่นักลงทุนต่างมองหา คำถามยอดฮิตที่ตามมาคือ ควรจะลงทุนเมื่อไหร่ และควรจะลงทุนอย่างไรดี จึงจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้
ชัยวัฒน์ เมธีวีรังสรรค์ Managing Director (WMSL) หยิบยกข้อมูล และสถิติต่างๆ มาสนับสนุน ให้เห็นภาพของวิธี “การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน Dollar-Cost Averaging (DCA)” ที่ทำหน้าที่กระจายความเสี่ยงในการลงทุน สร้างวินัยในการออมและลงทุน ที่ได้ผลดีกว่าการลงทุนแบบจับจังหวะเพื่อหวังเก็งกำไรในระยะยาว
การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar-Cost Averaging (DCA) อาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป คือ Unit-Cost Averaging, Cost-Average Effect, Constant Dollar Plan (US) และ Pound-Cost Averaging (UK)
แต่ชื่อทั้งหมดทั้งมวลในข้างต้นนี้ ล้วนเป็นกลไกการลงทุน ที่สามารถลงทุนด้วยเงินจำนวนที่เท่าๆกัน อย่างสม่ำเสมอ เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี ตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่เมื่อราคาตราสารที่ต้องการลงทุนราคาถูก นักลงทุนจะได้ ‘จำนวนหน่วย’ ที่มากขึ้น
ขณะที่หากราคาตราสารแพงจะได้จำนวนหน่วยที่น้อยลง โดยวิธีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนนี้ จะทำให้มั่นใจได้ว่า นักลงทุนจะไม่ลงทุนทั้งหมดในคราวเดียว ขณะที่ตลาดอยู่ในสภาวะขาขึ้นและไม่ต้องเสียใจกับการตัดสินใจลงทุนในภายหลัง
ชัยวัฒน์ กล่าวว่า หัวใจของ DCA ช่วยลดปัญหาการจับจังหวะการลงทุนที่ผิดพลาดได้ โดยการลงทุนสม่ำเสมอมีโอกาสได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
เนื่องจากความเป็นจริงแล้วนักลงทุนต่างอยากจะซื้อถูกและขายแพง แต่ข้อเท็จจริงที่พบจากผลการศึกษา จากสถิติย้อนหลัง 10 ปีคือ พบว่าทุกครั้งที่กองทุนขายดีที่สุดคือตอนที่ตราสารทุนราคาสูงที่สุด “คนมักจะซื้อกองทุนในช่วงที่แพงที่สุด และมักจะรีบขายตอนนี้เป็นตลาดหมี ยอมขาดทุนเพื่อที่จะขายตราสารทุนไปตราสารหนี้” (อ้างอิงจาก Tim Hale, “Smarter Investing”, p.78) ซึ่งหมายความว่า ทุกครั้งที่เรามั่นใจว่าเราซื้อถูกและขายได้แพง กลับกลายเป็นซื้อแพงแต่ขายได้ในราคาที่ถูกกว่าเสมอ
ส่วน การศึกษาในช่วงเวลา 26 ปี ของการซื้อขายโดยอ้างอิง The FTSE All-Share Index เป็นแหล่งที่มาของข้อมูล โดยผลตอบแทนของตลาดเงินในช่วงเดียวกันอยู่ที่ ร้อยละ 6.5 ต่อปี ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ ไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายและภาษี หากพิจารณาร่วมด้วย ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้เสื่อมถอยกันไปอีก (อ้างอิงจาก Tim Hale, “Smarter Investing”, p.55)
พบว่า การตัดสินใจว่าเมื่อไหร่จะเข้าออกตลาดเป็นสิ่งสำคัญในเบื้องต้น ‘การจับจังหวะการลงทุน’ แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ‘ความสม่ำเสมอและความต่อเนื่องในการลงทุน’
“วันดีๆเพียงไม่กี่วันที่พลาดไป กลายเป็นบทเรียนราคาแพง”
นอกจากนี้ ยังเปิดเผยการเข้าซื้อกองทุนแบบ DCA ที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุด จากการศึกษาในปี 2560 ภายใต้กองทุนรวม 19 ประเภท พบว่ารายเดือนให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ารายสัปดาห์เสมอ อีกทั้งยังพบว่าการเข้าซื้อในช่วงปักษ์แรกคือวันที่ 1-15 ให้ผลตอบแทนดีกว่าปักษ์หลังคือช่วงวันที่ 16-31 และเข้าซื้อในวันที่ 1 10 11 ปรากฏว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่าวันอืื่นๆ ในทางเดียวกันเมื่อศึกษาข้อมูลในกองทุนรวม LTF (1 กองทุน) ย้อนหลังไป 10 ปี พบว่าปรากฏข้องมูลในทิศทางเดียวกันด้วย
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ข้อดีของการลงทุนแบบ DCA คือ ทำให้เกิดวินัยในการออมการลงทุน, ลดปัจจัยด้านอารมณ์ออกจากกระบวนการตัดสินใจ, ลดการพึ่งพาการคาดการณ์ทิศทางตลาดและการจับจังหวะเวลาการลงทุน, ช่วยนักลงทุนที่ขาดประสบการณ์ขาดความเชี่ยวชาญในด้านการค้นหาเวลาที่เหมาะสมที่จะเข้าตลาดได้
ข้อควรระวังของการลงทุนแบบ DCA คือ อาจพลาดโอกาสโดยรวมในช่วงตลาดขาขึ้นต่อเนื่อง,ไม่อาจทดแทนการวิเคราะห์พื้นฐานเพื่อแยกแยะและค้นหาการลงทุนที่ดีที่เหมาะสม ,อาจไม่เหมาะกับนักลงทุนที่เชี่ยวชาญหรือชำนาญในการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ตลาดผันผวน ยากจะคาดเดา ทำให้นักลงทุนไม่สามารถจะระบุช่วงเวลาที่เหมาะสมของการลงทุนได้ตลอด Dollar-Cost Averaging (DCA) หรือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การเข้าซื้อ ที่จะช่วยลดความเสี่ยง กระจายโอกาส และสร้างวินัยในทางการเงินของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี