ในฐานะผู้ถือหุ้น ท่านมีเรื่องมากมายที่บริษัทเสนอมาให้ท่านตัดสินใจตัวอย่างในวันนี้ คือกรณีที่บริษัทเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาการเปลี่ยนเงื่อนไขของ warrantที่ได้ออกไปแล้ว เช่น การเปลี่ยนราคาใช้สิทธิ (exercise price)ขยายระยะเวลาใช้สิทธิ ท่านในฐานะผู้ถือหุ้นควรต้องพิจารณาอะไรบ้างก่อนตัดสินใจว่าจะยอมหรือไม่ยอมให้บริษัทเปลี่ยนเงื่อนไขดังกล่าว ?
ประเด็นที่ผู้ถือหุ้นควรต้องพิจารณา มีดังนี้
1. ก่อนอื่น ถ้าท่านเป็นผู้ถือหุ้นที่ถือ warrant อยู่ด้วยท่านต้องถอดหมวกของการเป็นผู้ถือ warrant ก่อนมิฉะนั้นแล้วความคิดเห็นของท่านจะไม่เป็นกลางเพราะท่านอาจมองประโยชน์ที่ท่านจะได้จากการเปลี่ยนเงื่อนไข warrant เพียงด้านเดียวโดยลืมนึกไปว่า การเปลี่ยนเงื่อนไขดังกล่าวมีผลกระทบต่อบริษัทอย่างไรซึ่งผลกระทบนั้นก็กระทบต่อผลประโยชน์ของท่านในฐานะผู้ถือหุ้นด้วย
หากท่านไม่ถอดหมวกของการเป็นผู้ถือ warrantความคิดของท่านจะยิ่งสับสนและยุ่งเหยิงขึ้นไปอีก เมื่อผู้ถือหุ้นที่ถือ warrantแต่ละคน ต่างก็ถือ warrant เป็นสัดส่วนของหุ้นที่ต่างกันประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะได้หรือเสียจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าวก็จะแตกต่างกันไปอย่างหลากหลายเช่น ถ้าการเปลี่ยนเงื่อนไข warrant นั้น ทำให้ ผู้ถือ warrant 1 หน่วยได้ประโยชน์ 1 ส่วน และทำให้ผู้ถือหุ้น 1 หุ้น เสียประโยชน์ 1 ส่วน(สมมุติว่าสามารถคำนวณประโยชน์ที่ได้และประโยชน์ที่เสียออกมาได้ เช่นนี้)หากท่านถือ warrant 1 หน่วย ถือหุ้น 1 หุ้น ท่านก็เสมอตัวแต่ถ้าผู้ถือหุ้นคนอื่นถือ warrant 10 หน่วย ถือหุ้น 1 หุ้น ผู้ถือหุ้นคนนั้นก็จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนเงื่อนไข warrant มากกว่าที่เขาเสียประโยชน์และมากกว่าที่ท่านได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนเงื่อนไข warrant ด้วย
ดังนั้น เพื่อให้การลงมติเกี่ยวกับการเปลี่ยนเงื่อนไข warrantเป็นไปอย่างมีเหตุผล และคิดถึงประโยชน์ของบริษัทเป็นหลัก ในขั้นแรกผู้ถือหุ้นที่ถือ warrant ด้วยควรมองผลประโยชน์โดยรวมของบริษัทที่จะได้รับหรือเสียไปจากการเปลี่ยนเงื่อนไขwarrant โดยพิจารณาในฐานะผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียวก่อน
2. เมื่อผู้ถือหุ้นทำใจได้อย่างที่แนะนำตามข้อ 1 แล้ว เราลองมาดูกันว่าเราจะคาดการณ์ถึงผลกระทบต่อบริษัท จากการเปลี่ยนเงื่อนไข warrantโดยการขยายระยะเวลาใช้สิทธิ และเปลี่ยนราคาใช้สิทธิ ได้อย่างไร
การขยายระยะเวลาใช้สิทธิ และการปรับราคาใช้สิทธิให้ต่ำลงเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสใช้สิทธิให้แก่ผู้ถือ warrant มากขึ้น แต่ผู้ถือ warrantจะใช้สิทธิหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับราคาใช้สิทธิและราคาตลาดของหุ้นในช่วงเวลาที่ขยายการใช้สิทธิออกไปซึ่งหากประเมินโอกาสใช้สิทธิของผู้ถือ warrant โดยวิธีง่าย ๆ เช่นดูว่าในช่วงเวลาย้อนหลังไปพอ ๆ กับเวลาที่ขยายการใช้สิทธิราคาตลาดของหุ้นเคยขึ้นไปถึงราคาใช้สิทธิใหม่หรือไม่ และบ่อยแค่ไหน
ถ้าไม่เคย และราคาใช้สิทธิใหม่ก็สูงกว่าราคาตลาดมากโอกาสที่ราคาตลาดในอนาคตจะขึ้นไปถึงราคาใช้สิทธิใหม่ ก็เป็นไปได้น้อยและโอกาสที่ผู้ถือ warrant จะมาใช้สิทธิก็อาจน้อย ในกรณีนี้การขยายระยะเวลาใช้สิทธิและราคาใช้สิทธิของ warrantก็อาจไม่มีหรือมีผลกระทบต่อบริษัทน้อย
แต่ถ้าในช่วงเวลาย้อนหลังไปพอ ๆ กับระยะเวลาที่มีการขยายการใช้สิทธิหากราคาตลาดของหุ้นเคยขึ้นไปถึงราคาใช้สิทธิใหม่ เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันนานและราคาใช้สิทธิใหม่ก็ใกล้เคียงราคาตลาดโอกาสที่ราคาตลาดในอนาคตจะสูงกว่าราคาใช้สิทธิใหม่ ก็เป็นไปได้มากและโอกาสที่ผู้ถือ warrant จะมาใช้สิทธิก็มากตามไปด้วย ในกรณีนี้การขยายระยะเวลาใช้สิทธิและราคาใช้สิทธิของ warrant ก็จะมีผลกระทบต่อบริษัทมาก
ผลกระทบที่ว่านี้ คือ ผลกระทบต่อกำไรต่อหุ้น เงินปันผลต่อหุ้นและสิทธิการออกเสียงของผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตามหลักการข้างต้นเป็นเพียงการอธิบายหลักการคร่าว ๆโดยในวิชาการเงินมีสูตรและทฤษฎีการคำนวณที่มีรายละเอียดและความแน่นอนมากกว่าที่อธิบายนี้ซึ่งเป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องคำนวณผลกระทบดังกล่าวเพื่อเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น
3. ผลกระทบที่อธิบายข้างต้นเป็นผลกระทบทั่วไปบางบริษัทอาจมีผลกระทบอื่นนอกเหนือจากนี้และน้ำหนักของความสำคัญของแต่ละผลกระทบก็แตกต่างกันไปตามสถานการณ์สภาพแวดล้อมของแต่ละบริษัทผู้ที่จะช่วยให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดคือกรรมการบริษัท เพราะกรรมการเป็นผู้ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเป็นอย่างดีเป็นผู้มีความสามารถและประสบการณ์ในธุรกิจและที่สำคัญกรรมการเป็นผู้ที่ผู้ถือหุ้นมอบหมายให้ไปทำหน้าที่กำกับดูแลการทำธุรกิจของบริษัทแทนตนเองนอกจากนี้ ตามกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัดกำหนดว่ากรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัท (fiduciary duty) ดังนั้นกรรมการจึงมีหน้าที่ต้องให้ความเห็นแก่ผู้ถือหุ้นว่า การเปลี่ยนเงื่อนไข warrantนี้ เป็นประโยชน์ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหมดอย่างไร
ในกรณีที่กรรมการรายใดถือ warrant หรือเกี่ยวข้องกับผู้ถือ warrantซึ่งอาจทำให้สงสัยได้ว่ากรรมการรายนั้นจะให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้อย่างเป็นกลางหรือไม่นั้นกรรมการรายนั้นก็ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่โดยการให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทเป็นหลัก(ไม่สามารถอ้างว่า ตนมีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ ขอไม่ออกความเห็นหรือได้จัดหาที่ปรึกษาทางการเงินมาแล้วจึงไม่ขอออกความเห็น มิฉะนั้นจะถือว่ากรรมการรายนั้นหลีกเลี่ยงหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะกรรมการ)แต่เพื่อความโปร่งใสกรรมการรายดังกล่าวต้องเปิดเผยส่วนได้เสียในเรื่องที่ตนให้ความเห็นซึ่งในกรณีนี้ก็คือ จำนวน warrant ที่ถือ หรือความเกี่ยวข้องอื่นใดเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาด้วยตนเองว่าควรให้น้ำหนักกับความเห็นของกรรมการรายนั้นมากน้อยเพียงใด
นี่เป็นโอกาสหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นจะใช้ความเห็นของกรรมการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขwarrant ในการประเมินการทำหน้าที่ของกรรมการกันด้วยว่ากรรมการของบริษัทท่านได้ทำหน้าที่โดยสุจริตและระมัดระวังเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทหรือไม่
4. อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นควรคำนึงถึงก่อนการตัดสินใจคือความเพียงพอของข้อมูลที่บริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้นก่อนการตัดสินใจ จริง ๆแล้วประเด็นนี้ใช้ได้กับการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติในทุก ๆ เรื่องซึ่งหากมีโอกาสคงจะมาเล่าสู่กันฟังต่อไป สำหรับกรณีนี้เนื่องจากการตัดสินใจว่าบริษัทควรเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข warrant หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่กระทบต่อผู้ถือหุ้นผู้ถือหุ้นจึงต้องมีข้อมูลและเวลาในการวิเคราะห์อย่างเพียงพอในการตัดสินใจการให้ข้อมูลในที่ประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นตัดสินใจทันทีเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง ดังนั้นบริษัทจึงต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนเงื่อนไข warrantผลกระทบของการเปลี่ยนเงื่อนไขดังกล่าว และความเห็นของกรรมการต่อการเปลี่ยนเงื่อนไขไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีเวลาศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ
5. ประเด็นสุดท้ายที่มีข้อสังเกตคือ ประเด็นที่ว่าผู้ถือหุ้นที่ถือ warrantด้วย ถือเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษตามกฎหมายบริษัทมหาชนและไม่มีสิทธิออกเสียงในวาระเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข warrant หรือไม่ในประเด็นนี้ยังไม่เคยมีคำพิพากษาตัดสินชี้ขาด แต่ตามทฤษฎีมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาได้ว่าผู้ถือหุ้นที่ถือ warrantเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษ กรณีที่ต้องลงมติเพื่อขอเปลี่ยนเงื่อนไข warrantนั้น ดังนั้น หากบริษัทยอมให้ผู้ถือหุ้นที่ถือ warrantออกเสียงลงมติในเรื่องดังกล่าว ก็อาจมีความเสี่ยงว่าหากมีผู้ถือหุ้นรายอื่นนำประเด็นดังกล่าวฟ้องต่อศาลก็อาจมีการเพิกถอนมติดังกล่าวได้
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นผู้ถือ warrantด้วย เช่น มีผู้ถือหุ้นถึง 95% ของบริษัทถือ warrantจะเป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่ให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เพียง 5%มีเสียงเด็ดขาดในการตัดสินเรื่องนี้ ?
ทางออกที่พอเป็นไปได้ในเรื่องนี้ อาจเป็นว่าผู้ถือหุ้นต้องตกลงและหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวเองในที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยเหตุผล และคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทเป็นหลักการตกลงกันเองได้จะทำให้ได้ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับและพอใจของผู้ถือหุ้นและลดความเสี่ยงที่จะมีผู้ร้องขอ
ต่อศาลให้เพิกถอนมติการประชุมได้อีกทางหนึ่ง
ประเด็นที่ได้ยกขึ้นมาทั้งหมดนี้คงเป็นแนวทางที่ทำให้ทั้งผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทเข้าใจถึงหน้าที่ของตนเองที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนเงื่อนไขของ warrant ได้ดียิ่งขึ้นกล่าวโดยสรุป คือกรรมการบริษัทมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลต่อผู้ถือหุ้นอย่างเพียงพอในเวลาที่เหมาะสมพร้อมทั้งแสดงความเห็นที่ได้ผ่านการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวมาเป็นอย่างดีโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทเป็นหลักส่วนผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจชี้ขาดกลุ่มสุดท้ายต้องมั่นใจว่าข้อมูลที่ต้องใช้ในการตัดสินใจเพียงพอและมีเวลาในการวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวแล้วมิฉะนั้นผู้ถือหุ้นต้องชะลอการตัดสินใจออกไปและขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกรรมการจนกว่าจะเห็นว่าข้อมูลที่ได้นั้นเพียงพอในการตัดสินใจแล้ว เพราะการตัดสินใจของท่านในวันนี้มีผลต่ออนาคตของบริษัทที่ท่านเป็นเจ้าของอยู่