ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ ให้พอใช้หลังเกษียณ
พอเริ่มเข้าสู่วัยกลางคน เรามักจะคิดถึงอนาคตและสิ่งที่ต้องทำหลังเกษียณ แต่คำถามที่หลายคนยังคงสงสัยคือ “ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ถึงจะพอใช้หลังเกษียณ?” บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจและทำความเข้าใจวิธีการคำนวณเงินเก็บที่จำเป็น เพื่อให้คุณสามารถวางแผนชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมั่นคง
วิธีการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ
1. คำนวณรายรับรายจ่ายในปัจจุบัน
ประเมินรายรับและค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ และควรบริหารให้เป็น โดยควรออมให้ได้ 5-10% ของรายรับ หากรายรับเพิ่มขึ้นก็ควรออมเพิ่มขึ้นไปด้วย และไม่ควรนำมาใช้ก่อนจะถึงวัยเกษียณ เพราะเมื่อถึงเวลาเกษียณอายุ เราจะเริ่มมีรายรับที่ไม่แน่นอน แม้ว่าอาจจะได้เงินบำเน็จ/บำนาญ หรือสวัสดิการจากทางรัฐ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในวัยเกษียณ ฉะนั้นควรบริหารเงินให้ดี และไม่ควรสร้างภาระหนี้สินเพิ่มในช่วงที่อายุใกล้เกษียณ เพื่อจะได้ใช้จ่ายในวัยเกษียณแบบมีความสุข
2. ตั้งเป้าหมายและวางแผนเก็บเงินเกษียณ
นำเงินที่ออมมาใช้จ่ายในชีวิตหลังเกษียณ
เงินที่ควรมีในวันเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ * 12 เดือน * จำนวนปีที่คาดว่าจะอยู่หลังเกษียณ
ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันคุณอายุ 30 ปี จะเกษียณในช่วงอายุ 60 ปี คุณคาดว่าหลังเกษียณจะใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท หมายความว่าในหนึ่งปีจะใช้เงิน 240,000 บาท และคาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณถึงอายุ 80 ปี ดังนั้นควรมีเงินเก็บหลังเกษียณ คือ 240,000 * 20 ปี หรือเท่ากับ 4,800,000 บาท โดยตัวเลขการประมาณนี้ยังไม่รวมเรื่องเงินเฟ้อ และ ค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
นำเงินลงทุนมาใช้จ่ายหลังเกษียณ
เงินที่ควรมีในวันเกษียณ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณ * 12 เดือน / การประมาณการผลตอบแทนเฉลี่ยจากพอร์ตการลงทุน (% ต่อปี)
ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันคุณอายุ 25 ปี คาดว่าจะเกษียณในช่วงอายุ 55 ปี หลังเกษียณจะใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท หมายความว่าในหนึ่งปีจะใช้เงิน 240,000 บาท โดยในช่วงอายุ 25-55 ปี คุณได้นำเงินไปลงทุนและประมาณการผลตอบแทนเฉลี่ยจากพอร์ตการลงทุนอยู่ที่ 5 % ต่อปี ดังนั้นจะมีพอร์ตการลงทุนในวันเกษียณ 240,000 / 5% หรือเท่ากับ 4,800,000 บาท ซึ่งวิธีนี้เงินต้นก็ยังคงอยู่แถมยังสามารถบริหารเงินต้นต่อโดยการลงทุนและปรับพอร์ตไปได้เรื่อยๆ ในช่วงหลังเกษียณ
3. ปรับแผนการออม/บริหารการลงทุนตามสถานการณ์
การวางแผนเกษียณ ไม่ควรจะทำให้ชีวิตตัวเองในปัจจุบันตึงเกินจนไม่มีความสุขในการใช้เงิน ฉะนั้นจึงควรปรับการออมหรือการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์การลงทุน , การเงิน , อายุ , ความเสี่ยง , เศรษฐกิจ และเป้าหมายในชีวิต ยิ่งเวลาผ่านไปก็ควรพิจารณาระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย เพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเองมากยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งทำให้การออมและการลงทุนบรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้มากที่สุด
4. ปัจจัยที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย
อัตราเงินเฟ้อ : คือสิ่งที่ต้องคำนึงเพราะอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น-ลงทุกปี อาจทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต ฉะนั้นจึงต้องคิดอัตราเงินเฟ้อเข้าไปในแผนเกษียณของเราด้วย
แบ่งเงินออมบางส่วนไปลงทุนการลงทุน : การเก็บเงินอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ทำให้เงินที่มีอยู่เติบโต ฉะนั้นถ้าหากวางแผนเกษียณควรพิจารณาการลงทุนเพื่อให้เงินเก็บเพิ่มขึ้นในช่วงหลังเกษียณ แต่อาจจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการลงทุนด้วย เช่น ความเสี่ยงสูงเน้นลงทุนในหุ้น หรือกองทุนตราสารทุน , ความเสี่ยงปานกลาง เน้นลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมผสม , ความเสี่ยงต่ำลงทุนในบัญชีเงินฝากประจำ เป็นต้น เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนที่จะวางแผนเกษียณ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นอีกด้วย
ค่าลดหย่อนภาษี : เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เสียภาษีน้อยลง และสามารถนำเงินนั้นมาเสริมการลงทุนในระยะยาวได้อีกด้วย ไม่ว่าจะป็น การลงทุนใน กองทุน SSF RMF หรือ TESG
การมีวินัยในตัวเอง : เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายการวางแผนเกษียณสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น การไม่นำเงินออกมาใช้ก่อนเกษียณ หรือแม้แต่หลังเกษียณก็ตาม ยังไม่ควรใช้จ่ายเกินตัวต้องคำนึงตลอดว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมีชีวิตหลังวัยเกษียณไปอีกกี่ปี หรืออาจจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา ฉะนั้นต้องบริหารเงินก้อนนนี้ให้ดี หรือมีกฎที่บอกวิธีการจัดการเงินเกษียณด้วยกฎ 4% ซึ่งคิดค้นโดย William Bengen ในปี 1994 หมายความว่าเราจะถอนเงินออกมาใช้จ่ายประมาณปีละ 4% ของเงินในพอร์ต ซึ่งจะทำให้เงินค่อยๆลดลงโดยที่เงินต้นก็ยังไม่หมด
ตัวอย่างเช่น มีเงินออมสำหรับเกษียณ 5 ล้านบาท คาดหวังจะได้ผลตอบแทนจากพอร์ตเฉลี่ย 5 % ต่อปี หากถอนเงินปีละ 4% ของเงินในพอร์ต หรือประมาณ 210,000 บาท จะทำให้เรามีเงินพอใช้ในหลังเกษียณแถมยังมีเงินเป็นมรดกให้ลูกหลานได้อีกด้วย
เทคนิคการออมและการลงทุนเพื่อเกษียณ
- ควรออมก่อนใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอ โดยออมเงินสำหรับการเกษียณให้ได้อย่างน้อย 5-10% ของรายได้ หากรายได้เพิ่มขึ้นก็ควรออมเพิ่มขึ้น และไม่ควรนำออกมาใช้จนกว่าจะเกษียณ (ควรเริ่มต้นตั้งแต่ทำงานมีรายได้)
- ควรแบ่งเงินออมเพื่อเกษียณบางส่วนไปลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้
- การเริ่มออมเงินและวางแผนการเงินการลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยลดภาระในอนาคตและยังมีระยะเวลาในการออม หรือการลงทุนที่ยาวนาน เพื่อให้ชีวิตในวัยเกษียณมั่นคงมากที่สุด
การมีเงินเก็บเพียงพอหลังเกษียณไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยาก หากเราเริ่มต้นวางแผนอย่างถูกต้องและใช้วิธีการคำนวณที่เหมาะสม การรู้จักกับปัจจัยต่างๆ และใช้เครื่องมือช่วยคำนวณการวางแผนจะทำให้คุณมั่นใจได้ว่าชีวิตหลังเกษียณของคุณจะเป็นไปอย่างที่ตั้งใจไว้แน่นอน
📌เครื่องมือวางแผนการเงินในวัยเกษียณ ตัวช่วยดีดี ของ WealthMagik
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
WealthMagik – ลงทุนง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว
โทร 02 – 437 – 1588
Line : @WealthMagik หรือ คลิกที่นี่
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
WealthMagik – ลงทุนง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว
โทร 02 – 437 – 1588
Line : @WealthMagik หรือ คลิกที่นี่