Thailand Web Stat
โจมตีค่าเงินอย่างเสรี
สงครามแบบใหม่ที่ไทยต้องเผชิญ
SHARE |
SHARE |
ออมดอลลาร์ช่วยชาติ กองทุนรวมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ( ตอนที่ 2 )

ออมดอลลาร์ช่วยชาติ กองทุนรวมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ( ตอนที่ 2 )

ยิ่งโลกพัฒนาไปมากเท่าไหร่ อำนาจยิ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศที่ต้องการเป็นหนึ่งมากเท่านั้นทว่า การแย่งชิงอำนาจทุกวันนี้ ไม่ใช่สงครามที่ระดมสรรพกำลังโจมตีกันด้วยอาวุธแต่เป็นสงครามรูปแบบใหม่ที่แสดงแสนยานุภาพผ่านการโจมตีค่าเงิน

ปัญญา จรรยารุ่งโรจน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Global Markets ธนาคาร HSBC & Citibank ผู้ซึ่งเชี่ยวชาญด้านตลาดเงิน มีความผูกพันและศึกษาเชิงลึกในตลาดเงินมากว่า 35 ปี อธิบายถึงลักษณะของการทำสงครามแบบใหม่ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่โดยไม่รู้ตัว จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดสงครามหลากรูปแบบตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคือ “ประเทศมหาอำนาจ” ไม่ต้องการให้มีประเทศที่ 2 มาเบียด ตำแหน่งมหาอำนาจของโลกจึงพยายามหาวิธีที่ปิดโอกาสคู่แข่ง และเปิดโอกาสให้ประเทศตัวเอง

หนึ่งในนั้นคือ กติกาต่างๆ ที่มหาอำนาจออกแบบมาเพื่อใช้ในสังคมโลกแต่เอื้อให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศของตัวเองไปในเวลาเดียวกัน เช่น การกำหนดให้ดอลลาร์ฟิกซ์กับทองคำ แล้วให้ค่าเงินอื่นมาฟิกซ์กับดอลลาร์อีกทอดหนึ่งจนกลายเป็นรากเหง้าของระบบการเงินระหว่างประเทศ ที่ทำให้เงินดอลลาร์เป็นเงินทุนสำรองเงินตราของโลก และได้เปรียบประเทศอื่นๆ จนถึงวันนี้

เป็นความชาญฉลาดของมหาอำนาจที่กำหนดระบบการเงินระหว่างประเทศให้ดอลลาร์เป็นเงินสกุลเดียว ที่ผูกกับทองคำ ประเทศยุโรปอื่นๆ บอบช้ำจากสงครามโลกไม่มีทองคำมากพอ จึงต้องเป็นเบี้ยล่างผูกค่าเงินตนเองกับดอลลาร์เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นหลังสงคราม ยุทธสงครามระบบการเงินนี้มีเป้าหมายในการเตะปัดขาเงินปอนด์ซึ่งเคยเป็นเงินตราที่สำคัญที่สุดของโลก

เมื่อเงินปอนด์ของอังกฤษเสื่อมลง ศักยภาพทางการเงินระหว่างประเทศของอังกฤษก็เสื่อมตามทำให้อังกฤษไม่สามารถรักษาศักยภาพทางการทหารได้เหมือนเดิม ประเทศอาณานิคมต่าง ๆ จึงถือโอกาสประกาศอิสรภาพ จะเห็นได้ชัดว่าระบบการเงินระหว่างประเทศออกแบบมาเพื่อค้ำจุนศักยภาพทางการทหาร เพื่อรักษาความเป็นมหาอำนาจของโลก

ตัวอย่างที่ชัดเจน และใกล้เคียงกับสิ่งที่ไทยกำลังเผชิญมากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงค่าเงินของญี่ปุ่น หลังการประชุม “Plaza Accord (พลาซ่า แอคคอร์ด)” เมื่อปี 1985

ณ เวลานั้นญี่ปุ่นขึ้นแท่นมหาอำนาจอันดับ 2 ผลพวงจากการกำหนดค่าเงินเยนที่ 360 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์ จนถึงปี ค.ศ.1971 ตามสนธิสัญญา Bretton Woods ซึ่งเป็นความใจดีของพี่ใหญ่อเมริกาต่อญี่ปุ่นผู้แพ้สงครามโลก ทว่า ในทศวรรษต่อมาสหรัฐอเมริกาเสียเปรียบด้านการค้ากับประเทศญี่ปุ่นมาก จึงมีการประชุมครั้งสำคัญในปี 1985 ที่เรียกว่า “พลาซ่า แอคคอร์ด” สงครามรูปแบบใหม่ที่มีการบังคับให้ญี่ปุ่นทำค่าเงินให้แข็งขึ้นจาก 260 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงเหลือ 120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลาไม่กี่เดือน

จากค่าเงินที่แข็งเกินความเหมาะสมนี่เองทำให้ญี่ปุ่นเสียเปรียบการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ สูญเสียอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน( Flying Geese Theory : Kaname Akamtsu ) การจ้างงานในประเทศลดลง ทำให้เศรษฐกิจแย่ลงนับแต่วันนั้นยังฟื้นตัวแทบไม่ได้มาจนถึงวันนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่น เป็นผู้แพ้ในสงครามค่าเงิน

VDO : บทเรียนจากวิกฤตสู่โอกาสครบรอบ 35 ปี การลดค่าเงินบาท

ตัวอย่างในครั้งนั้นสะท้อนอย่างชัดเจนถึงอันตรายจากค่าเงินบาทที่แข็งเกินความเหมาะสมส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้าและยังส่งผลกระทบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยในตอนนี้คือ พฤติกรรมการโจมตีค่าเงินอย่างเสรีจากประเทศมหาอำนาจหรือต่างชาติ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “สงครามแบบใหม่” ที่อาจทำให้ไทยตกอยู่ในสถานะผู้พ่ายสงครามการเงินคล้ายญี่ปุ่นหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่บริหารจัดการให้เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่

“สงครามแบบใหม่ ไทยห้ามรบแบบเก่า”
“สงครามแบบใหม่ ไทยห้ามรบแบบเก่า”

ที่ผ่านมาตลาดเงินตลาดทุนไทยเสียอธิปไตยจากการเขียนกติกาของมหาอำนาจหลายด้าน อาทิ

– ด้านอัตราแลกเปลี่ยน

ดังที่เห็นได้ชัดเจนว่า ณ เวลานี้ เงินบาทแข็งค่าจนยากที่จะแข่งขันทางการค้า นักเก็งกำไรต่างชาติสามารถปั่นค่าเงินบาทได้ไม่ยากดังที่ปรากฎชัดเมื่อบ่ายวันที่ 30 ธันวาคม และต่อเนื่องถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 สิ้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขื้นกว่า 1.3 % ในขณะที่ไทยหยุดฉลองวันสิ้นปี

– ด้าน Yield curve (เส้นอัตราผลตอบแทน)

ต่างชาติเข้ามาเล่น Yield curve ของไทยได้โดยเสรี ทั้ง Cash (เงินสด) และ Derivatives (ตราสารอนุพันธ์) ทำให้เราเสียความสามารถในการบริหาร Yield curve ของตัวเอง สะท้อนจากปริมาณธุรกรรม 6 เดือนที่ผ่านมา ที่มีต่างชาติทำธุรกรรมอนุพันธ์ดอกเบี้ยรวม 650,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจไทยทำไว้เพื่อป้องกันความผันผวนของดอกเบี้ยเพียง 100,000 ล้านบาท ซึ่งต่างกันถึง 6 เท่า

เมื่อควบคุม Yield curve ไม่ได้ การกำหนดดอกเบี้ยนโยบายก็ย่อมมีปัญหา และมักจะกำหนดตามตลาดแทนที่จะเป็นผู้นำตลาด สุดท้ายผู้ประกอบการ และนักลงทุนไทยกลับเสียประโยชน์จากความผันผวนของเส้นผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยที่ผันผวนเกินไป

ที่มา : งานประชุมระดมสมอง “ออมดอลล่าร์ช่วยชาติ กองทุนรวมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย” โดย บริษัทเว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด 12-02-2020
ที่มา : งานประชุมระดมสมอง “ออมดอลล่าร์ช่วยชาติ กองทุนรวมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย” โดย บริษัทเว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด 12-02-2020
“เงินออม” อาวุธของไทย ในสงครามค่าเงิน

“เงินออม จักรกล เพื่อพัฒนา และ กระสุนปกป้องชาติไทยจาก สงครามรูปแบบใหม่ สงครามที่โจมตีผ่านการค้าค่าเงินโดยเสรี” สมเกียรติ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WealthMagik

ปัจจุบันประเทศไทยใช้เวลา 15 ปี สะสมเงินออมที่เกิดจากการค้าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ถึง 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นอาวุธที่สามารถใช้ในการขับเคลื่อนประเทศได้

โดยยุทธวิธีการใช้ “กระสุนเงินออม” ของชาติให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในสงครามยุคใหม่ ในรูปแบบของสงครามค่าเงินคือความแข็งแกร่งภายในประเทศ และรู้เท่าทันต่างชาติบางกลุ่มที่มีเป้าประสงค์เพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากการค้าค่าเงินโดยเสรี

ยุทธวิธีที่ไทยควรใช้ในสงครามรูปแบบใหม่

แต่ก่อนที่จะยิงกระสุนเงินออมเพื่อต่อสู้ในสงครามค่าเงิน ไทยควรเร่งแก้ปัญหาค่าเงินบาท และโครงสร้างตลาดการเงินให้เหมาะสมก่อน

เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้คือ ประเทศไทยมีเงินออมสูง แต่มีอัตราส่วนการลงทุนที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยมาก อีกทั้งยังมี “ค่าเงิน” ที่แข็งเกินกว่าที่จะแข่งขันทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ทั้งๆ ที่ไทยยังมีพลเมืองยากจนอยู่ ส่งผลต่อภาคการผลิตและการจ้างงาน ฯลฯ

ความต้องการ? ณ เวลานี้ คือแก้ปัญหาโครงสร้าง นั่นคือการปรับมาตรการที่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างเสรีให้รัดกุม หรือมีการกรองให้เหมาะสมมากขึ้น วันนี้ เรายังยึดติดแนวความคิดในยุคที่ประเทศขาดเงินออม ต้องจำยอมรับการเปิดเสรีให้ต่างชาติมีอิสระเสรีในการเข้ามาเล่นค่าเงินบาท เราต้องยอมรับว่ามหาอำนาจต่างชาติมีเม็ดเงินมากกว่าเรามากมาย มีประสบการณ์ทักษะชั้นเทพในการเล่นค่าเงิน สงครามการเงินในบริบทนี้ เราเสียเปรียบไม่มีทางชนะเลย

การรบในสงครามการเงินยุคใหม่ เราต้องศึกษาจุดอ่อนจุดแข็ง เข้าใจเป้าหมายของสงคราม และกำหนดยุทธการที่เราไม่เป็นลูกไล่ของข้าศึก หากเราไม่ได้ขาดเงินออม เงินส่วนเกินที่ไหลเข้ามาย่อมก่อผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ สร้างปัญหาในการกำหนดนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน วันนี้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินจากต่างประเทศแล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราจะเรียกร้องอธิปไตยการกำหนดค่าเงินคืนมา

คนไทยที่ผูกอนาคตกับเศรษฐกิจไทยย่อมสามารถกำหนดค่าเงินของตนเองได้ถูกต้องกว่านักเก็งกำไรต่างชาติที่หวังแต่รายได้กำไรจากการค้าเงินตราที่เขาถือเป็นอาชีพ ถึงเวลาแล้วที่เราจะเคารพการกำหนดค่าเงินโดยคนไทยเพื่อคนไทยที่มีส่วนได้เสียกับความสำเร็จของประเทศ

ที่มา : งานประชุมระดมสมอง ออมดอลล่าร์ช่วยชาติ กองทุนรวมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดย บริษัทเว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด 12-02-2020

เราอยู่ในฐานะ และมีศักยภาพในการรักษาค่าเงินให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (REER) ซึ่งควรอยู่ในระดับ 38.5 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ และ 35 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ ไม่ใช่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอย่างที่เป็นอยู่

ที่มา : งานประชุมระดมสมอง ออมดอลล่าร์ช่วยชาติ กองทุนรวมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
โดย บริษัทเว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด 12-02-2020

แนวทางการรักษาค่าเงินบาทให้เหมาะสม และใช้เงินออมให้เกิดประโยชน์ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการเงิน ภาคธุรกิจ และนักวิชาการ เพื่อวางแผน และแก้ไขปัญหาค่าเงินให้เหมาะสม ก่อนที่เงินบาทจะอ่อนลงเองตามกลไกตลาดเพราะเศรษฐกิจพังเกินจะเยียวยา สงครามรูปแบบใหม่ที่โจมตีค่าเงินอย่างเสรี เดิมพันสูงแบบที่ไทยไม่มีสิทธิ์แพ้

Share บทความนี้
Share บทความนี้
อ่านบทความ ออมดอลล่าห์ช่วยชาติกองทุนรวมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
อ่านบทความ ออมดอลล่าห์ช่วยชาติ กองทุนรวมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย