เมื่อสัปดาห์ก่อนเราคุยกันไปแล้วกับวิธีการหนึ่งในการวัดอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยง (risk-adjusted return) คือ Sharpe’ Ratio ซึ่งคำนวณได้ไม่ยาก และทำความเข้าใจได้ง่ายๆ โดย Sharpe’ Ratio เป็นการเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนกับความเสี่ยง 1 หน่วย ยิ่งค่า Sharpe’s Ratio ที่ได้มีค่าสูง (ค่ายิ่งสูงยิ่งดี) จะหมายถึงการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนดีกว่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยง 1 หน่วย สำหรับสัปดาห์นี้เรามารู้กันมากขึ้นอีกนิดกับอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยเราในการตัดสินใจลงทุน “Information Ratio”
Information Ratio (Info Ratio หรือ IR) เป็นวิธีการหนึ่งที่แสดงถึงความสามารถของกองทุนในการสร้างผลตอบแทน (Return) ที่เหนือกว่าเกณฑ์อ้างอิงผลการดำเนินงาน (Benchmark) ที่ปรับด้วยความเสี่ยง (Standard Deviation) โดยการหาค่า Information Ratio นั้นมีหลักคิดไม่แตกต่างจาก Sharpe’s Ratio แต่อาจซับซ้อนกว่าเล็กน้อย (สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ) แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะโดยหลักคิดแล้วเราสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายๆ คือ Information Ratio เท่ากับ Return – Benchmark เเละหารด้วย Standard deviation การคิดคำนวณและประโยชน์ในการนำไปใช้เป็นอย่างไรตามมาดูกันเลยครับ
อันดับแรกเรามารู้จักผลตอบเเทน (Return) กันซึ่งในที่นี้เราจะหมายถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน เมื่อเราลงทุนในกองทุนรวมเราจะได้หน่วยลงทุนมาสิ่งที่เราสนใจคือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value หรือ NAV) ต่อหนึ่งหน่วยการลงทุนว่าเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร การเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงนี้ ทำให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งเราสามารถคำนวณอัตราผลตอบแทนได้ง่ายๆ คือ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ReturnT) เท่ากับ NAV ณ วันที่เราต้องการดูอัตราผลตอบแทน (NAVT ) ลบ NAV ณ วันที่เราต้องการเปรียบเทียบ (NAVT-n ) และหารอีกครั้งด้วย NAVT-n เท่านี้เราก็จะรู้แล้วว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return) เป็นเท่าไร
อันดับต่อมาเรามารู้จักเกณฑ์อ้างอิงผลการดำเนินงาน (Benchmark) กัน Benchmark นั้นใช้ในการเปรียบผลตอบแทนของกองทุนที่เราลงทุนกับค่าเฉลี่ยของตลาด ซึ่งหากกองทุนรวมได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า Benchmark แล้ว ก็หมายความว่า บลจ. นั้นบริหารกองทุนรวมได้ดี และผลตอบแทนของกองทุนรวมนั้นชนะตลาด Benchmark ที่จะนำมาใช้เปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในแต่ละนโยบายการลงทุนนั้น ต้องมีลักษณะการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่สอดคล้องกับกองทุนรวมในแต่ละนโยบายการลงทุนนั้น ๆ ยกตัวอย่างหากเราลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) หรือที่เรียกว่า “กองทุนรวมหุ้น” Benchmark ที่เหมาะสม คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ SET Index หรือ SET 50 Index แต่หากเป็น “กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นเฉพาะกลุ่มธุรกิจ” Benchmark ที่เหมาะสม คือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเฉพาะกลุ่มธุรกิจนั้น หรือหากเราลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้และ/หรือเงินฝาก เช่น “กองทุนรวมตลาดเงิน” Benchmark ที่เหมาะสม คืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยประเภทบุคคลธรรมดาวงเงิน 1 ล้านบาทระยะเวลา 3 เดือน หรือหากลงทุนใน “กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น” Benchmark ที่เหมาะสม คืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยประเภทบุคคลธรรมดาวงเงิน 1ล้านบาท ระยะเวลา 1 ปี หรือ หากลงทุนใน “กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว” Benchmark ที่เหมาะสม คือ TBDC Government Bond Index (Total Return Index) เป็นต้น (สามารถศึกษาข้อมูล Benchmark ของกองทุนแต่ละนโยบายการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่ ) เมื่อเรารู้แล้วว่าควรใช้ Benchmark อะไรเพื่อเปรียบเทียบกับกองทุนที่เราลงทุนเราก็นำ Benchmark ตัวนั้นมาหาเป็นอัตราผลตอบแทนของ Benchmark (Benchmark ReturnT) โดยนำ Benchmark ณ วันที่เราต้องการดูอัตราผลตอบแทน (Benchmark T ) ลบ Benchmark ณ วันที่เราต้องการเปรียบเทียบ (Benchmark T-n ) และหารอีกครั้งด้วย Benchmark T-n
ที่นี้เราก็นำ Return ของกองทุนที่เราลงทุนมาเปรียบเทียบ (ลบ) กับ Benchmark Return ในแต่ละช่วงที่เราต้องการเปรียบเทียบเช่น 1 ปี แล้วนำมาเฉลี่ยซึ่งเราจะได้ค่าอัตราผลตอบแทนเปรียบเทียบโดยเฉลี่ย (Average Relative Return) ซึ่งค่านี้บอกเราว่าโดยรวมแล้ว Return ของกองทุนที่เราลงทุนไปนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่า Benchmark Return แต่อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วการดูเพียง Return อย่างเดียวไม่เพียงพอเราต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้วย
สำหรับ Standard Deviation หรือส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการวัดความเสี่ยงที่เเสดงถึงความผันผวน (volatility)หรือการเเกว่งตัวขึ้นลงของผลตอบเเทนนั้นก็หาได้ไม่ยาก สามารถใช้วิธีการหา Standard Deviation ทั่วๆไปในการคำนวณ (ผลรวมกำลังสองของส่วนต่างระหว่างค่า Relative Return กับ Average Relative Return ในแต่ละช่วงที่เราต้องการเปรียบเทียบเช่น 1 ปี แล้วนำมาเฉลี่ยหลังจากนั้นถอนรากที่สอง) ทีนี้เราก็จะได้ Standard Deviation หรือที่เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า Tracking Error ที่ใช้สำหรับคำนวณค่า Information Ratio เมื่อเราได้ข้อมูลต่างๆ แล้วเราก็หา Information Ratio ได้ง่ายๆ สมมติว่าเราได้ค่า Average Relative Return = 0.0687% Tracking Error =1.3249% ดังนั้น Information Ratio = 0.0687%/1.3249% = 5.188%
เราใช้ค่า Information Ratio อย่างไร ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจกันมากขึ้น สมมติมีกองทุนรวมหุ้น 2 กองทุน ช่วง 1 ปีที่ผ่านมากองทุนที่ 1 ให้ผลตอบแทน 41.25% Standard Deviation 19.97% ขณะที่กองทุนที่ 2 ให้ผลตอบแทน 31.85% Standard Deviation 13.01% จะเห็นว่ากองทุนที่ 1ให้ผลตอบแทนสูงแต่เมื่อมาดูที่ค่า Standard Deviation นั้นจะพบว่าสูงถึง 19.97% ซึ่งอย่าลืมว่า ถ้าค่า Standard Deviation สูงนั้นก็หมายความว่ากองทุนนี้ให้ผลตอบแทนผันผวนมาก(ความเสี่ยงมาก)เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้หลายคนคงจะเลือกลงทุนในกองทุนที่ 2 เนื่องจากกองทุนที่ 2 ให้ผลตอบแทนน้อยกว่ากองทุนที่ 1 ก็จริง แต่ในแง่ของ Standard Deviation นั้นจะพบว่ากองทุนที่ 2 นั้นมีความผันผวนของอัตราผลตอบแทนต่ำกว่า กองทุนที่ 1 แต่ข้อมูลเพียงเท่านี้อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน เพราะยังมีค่า Information Ratio ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง สมมติเราหาค่า Information Ratio ของกองทุนที่ 1 ได้ 0.98% ของกองทุนที่ 2 ได้ 0.21% นั้นหมายความว่าภายใต้ความเสี่ยงที่เท่ากันกองทุนที่ 1 ให้ผลตอบแทน 0.98% ซึ่งน่าลงทุนมากกว่ากองทุนที่ 2 ที่ให้ผลตอบแทน 0.21% นั่นเอง
นักลงทุนไม่ต้องกังวลว่าจะหาข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นจากที่ไหนดี ท่านสามารถหาข้อมูลทั้งหมดได้ที่ ซึ่งทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุนมีข้อมูลผลการดำเนินงานของกองทุนทั้งหมด มีการคิดค่า Standard deviation เเละค่า Information Ratio ไว้แล้วโดยหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และเป็นเครี่องมือหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจลงทุน เลือกลงทุนได้อย่างเหมาะสม หรือผู้ที่ลงทุนอยู่เเล้ว มีข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้นแล้วพบกันในครั้งต่อไปครับ
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน
Association of Investment Management Companies