Thailand Web Stat

รู้ก่อน คุ้มกว่า! สรุปรายการลดหย่อนภาษีครึ่งปี 2567

ลดหย่อนภาษีครึ่งปี
ลดหย่อนภาษีครึ่งปี
หัวข้อฮอตฮิตที่สุดคงจะหนีไม่พ้น คือ “ภาษี” ทั้งวิธีการยื่นภาษี การคำนวณภาษี รวมไปถึงรายการค่าลดหย่อนต่างๆ ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ มีอะไรบ้าง WealthMagik ได้ทำโพยสรุปแบบเข้าใจง่ายมาให้ครับ มาดูกันเลย

หลักสำคัญในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • รายได้ ต้องรู้ว่ารายได้ที่เราได้คือเงินได้ประเภทไหน
  • ค่าใช้จ่าย เพราะวิธีการหักค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามประเภทของเงินได้ ส่วนมากรายได้ที่นำมายื่นภาษีครึ่งปีนั้น มักจะสามารถเลือกได้ว่าจะหักเหมาหรือหักตามจริง
  • ค่าลดหย่อน สามารถหักได้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะหักได้แค่ครึ่งเดียว เพราะเป็นการยื่นภาษีครึ่งปี เช่น ในกลุ่มส่วนตัวและครอบครัว แต่สำหรับตัวที่เป็นการยกเว้นจากเงินได้จะลดหย่อนได้เต็ม

 

วิธีคำนวณภาษีครึ่งปี 2567 ภ.ง.ด.94

วิธีที่ 1 การคำนวณภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งคำนวณจาก

 

ภาษีที่ต้องจ่าย = รายได้สุทธิ x อัตราภาษี

โดยที่รายได้สุทธิ คือ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทั้งหมดแล้ว
รายได้สุทธิ = รายได้-รายจ่าย-ค่าลดหย่อน

วิธีที่ 2 การคำนวณภาษีแบบเหมาจ่าย ซึ่งมีไว้ในกรณีที่มีรายได้ทางอื่นเสริมนอกเหนือจากเงินเดือนตั้งแต่ 1 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจาก

 

ภาษีที่ต้องจ่าย = รายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือน x 0.5%
อัตราภาษี
เมื่อคำนวณเสร็จแล้วให้นำภาษีที่ต้องจ่ายมาเปรียบเทียบกันดูว่าวิธีไหนต้องเสียภาษีมากกว่า ให้เลือกเสียภาษีตามวิธีนั้น

สรุปรายการลดหย่อนภาษีครึ่งปี 2567

กลุ่มส่วนตัว และครอบครัว

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท สำหรับผู้มีเงินได้ทุกคน
  • ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรส 30,000 บาท โดยที่คู่สมรสต้องไม่มีรายได้
  • ค่าลดหย่อนสำหรับบุตร คนละ 15,000 บาท โดยที่บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนสำหรับอุปการะบิดา มารดา คนละ 15,000 บาท โดยที่บิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี และมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ค่าลดหย่อนสำหรับอุปการะผู้พิการ ทุพพลภาพ คนละ 30,000 บาท โดยที่ผู้พิการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี และต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ 

กลุ่มประกัน

ลดหย่อนภาษี
  • ค่าเบี้ยประกันสุขภาพตนเองหักค่าลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท 
  • เบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน95,000 (เนื่องจากเงินที่จ่ายจริงจำนวน 10,000 บาทแรก เป็นค่าลดหย่อนได้เพียงครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 5,000 บาท ส่วนอีก 90,000 บาทลดหย่อนได้เต็ม)

*ทั้งนี้เมื่อนำเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์มารวมกัน จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 95,000 บาท ส่วนเงื่อนไขการใช้สิทธิ์คือจะต้องชำระเบี้ยประกันภายใน 30 มิ.ย. 2567 ก่อนถึงจะสามารถนำมาลดหย่อนภงด.94 ได้

  • ค่าเบี้ยประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่รายได้สามารถหักค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 5,000 บาท
  • ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ บิดามารดาของผู้มีเงินได้ต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี และไม่มีเงื่อนไขที่อายุของบิดามารดาต้องครบ 60 ปีขึ้นไป

กลุ่มเงินออมและการลงทุน

  • ค่าเบี้ยประกันแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท 
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ตามที่ลงทุนจริงสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้ตามที่ลงทุนจริงสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท 

*เมื่อรวมค่าลดหย่อนของกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อการออม และประกันบำนาญรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

  • กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ลดหย่อนได้ตามที่ลงทุนจริงสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 300,000 บาท และเมื่อรวม SSF , RMF กับเงินออมเพื่อเกษียณตามกำหนดของสรรพากรต้องไม่เกิน 800,000 บาท

*ค่าลดหย่อนเงินที่สะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเอามาลดหย่อนตอนยื่น ภงด.94 ไม่ได้ เนื่องจากการหักลดหย่อนเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพใช้สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) ซึ่งจะคำนวณภาษีเงินได้ตอนปลายปีเท่านั้น

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์

ลดหย่อนภาษี
  • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 95,000 บาท(เนื่องจากเงินที่จ่ายจริงจำนวน 10,000 บาทแรก เป็นค่าลดหย่อนได้เพียงครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 5,000 บาท ส่วนอีก 90,000 บาทลดหย่อนได้เต็ม)

ตัวช่วยคำนวณภาษีแบบครบ จบ ในที่เดียว