Thailand Web Stat

ไตรมาสแรก 2567 ผ่านไป เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรบ้าง ?

GDP ไทย Q1/2567

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2567

GDP ในไตรมาสแรกขยายตัว 1.5% จากปีก่อน และขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ผลมาจากการส่งออกบริการ การอุปโภคบริโภค รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัว แต่ยังสะท้อนภาพของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เนื่องจากมีการขยายตัวในระดับต่ำ เป็นผลจากการลงทุนของภาครัฐที่หดตัวลงจากการล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ

ปัจจัยที่สนับสนุนเศรษฐกิจ

การอุปโภคบริโภคในประเทศยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ไปจนถึงการมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ  อัตราการว่างงานและเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่องด้วย
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อมาช่วยสนับสนุนการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี เพื่อเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ

นอกจากปัจจัยการลงทุนของภาครัฐที่หดตัวลง จากการล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ ประเทศไทยยังมีปัจจัยอื่นที่กดดันเศรษฐกิจอยู่อีก ได้แก่
หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 2.74% จากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs รวมไปถึงในส่วนของครัวเรือนที่ฟื้นตัวช้า
ความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติอย่างอุทกภัยที่ควรเฝ้าระวัง จากครึ่งปีแรกที่ได้รับผลกระทบของเอลนีโญ ส่งผลให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะลานีญา จึงมีความเสี่ยงที่เกิดฝนตกหนัก จนเกิดอุทกภัย และสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรได้
สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อย่างการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้ส่งออกไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น
GDP ไทย Q1/2567

แนวทางการบริหาร และการคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2567

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ปรับการคาดการณ์ GDP ทั้งปี 2567 จากเดิมขยายตัวได้ 2.2 – 3.2% เหลือขยายตัวเพียง 2 – 3% ในปีนี้ อีกทั้งคาดว่าภาคการส่งออกจะบวกได้ 2% ในปีนี้ ซึ่งต้องทำควบคู่กับการปรับโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมไทย ในส่วนของการลงทุนรวม คาดว่าขยายตัว 1.9% มาจากภาคเอกชน 3.2% ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ในครั้งก่อน ส่วนการลงทุนของภาครัฐยังคาดว่าจะลดลง 1.8% ซึ่งแนวทางการบริหารงานจัดการในครึ่งปีหลังของปี 2567 นี้ มีดังนี้
  • การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ
  • ดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs
  • การดูแลภาคเกษตรและรายได้ของเกษตรกร รวมถึงเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับอุทกภัย
  • ขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ
  • ติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

WealthMagik – ลงทุนง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว

โทร 02 – 437 – 1588

Line : @WealthMagik หรือ คลิกที่นี่ 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

WealthMagik – ลงทุนง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว

โทร 02 – 437 – 1588

Line : @WealthMagik หรือ คลิกที่นี่