เคยไหมครับที่บางครั้งเมื่อเรากำลังตัดสินใจ จะทำอะไรสักอย่างแล้วเกิดการฉุกใจได้ คิดในข้อความที่ว่า "เสี่ยงเกินไป ได้ไม่คุ้มเสีย" และก็ข้อความนี้นี่เอง ที่เป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ ในตอนนั้น ให้เกิดซึ่งการกระทำ หรือไม่กระทำขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับท่านๆ นักลงทุนทั้งหลาย ที่บางครั้งกำลังจะลงทุน กำลังจะซื้ออยู่มะลอมมะล่อแล้วเชียวนาเกิดฉุกใจได้คิด หรือได้รับการเตือนสติ จากคนรอบข้าง ในข้อความข้างต้น ทำให้ต้องหันกลับมาตรึกตรอง โดยถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงตัดสินใจ โดยใช้ปัจจัยกระตุ้น ท้ายสุดนี้เป็นเกณฑ์หลัก ในการตัดสิน
ตามหลักวิชาภาษาไทย101 ที่เราๆ ท่านๆ ได้ร่ำเรียนกันมา ลักษณะของข้อความข้างต้น ไม่ใช่วลี หรือประโยคซ้อนประโยคแต่เป็นประโยคหลัก 2 ประโยคที่นำมาเชื่อมต่อกัน เพื่อสื่อถึงความเป็นเหตุและผล โดยมีประโยคต้นเป็นเหตุนำมาซึ่งผลที่แสดง ให้เห็นในประโยคหลัง และเมื่อผ่านการใช้งานมาช่วงหนึ่ง ก็เกิดการตัดทอน โครงสร้างประโยค ให้สั้นลงจนกระชับอย่างที่เห็น ขณะที่ รูปแบบฉบับเต็มๆ ของข้อความนี้ อาจเป็นอะไรก็ได้ ตามแต่ที่ใจ ของท่านทั้งหลาย อยากให้เป็น ตั้งแต่ "เฮ้อ! มันเสี่ยงเกินไปนะคิดว่าผลลัพธ์ที่ได้ คงไม่คุ้มกับที่จะต้องเสียไป" หรือถ้าจะให้ฟังดูเท่ๆ ก็เช่น"พี่ๆ หรือเธอๆ อย่าเล่นหรือลงทุนเลยนะ มันเสี่ยงเกินไป จะได้ไม่คุ้มเสียซิ" แต่ไม่ว่าจะลงเอย ในรูปแบบใดก็ตามทีสาระหลัก ที่ต้องการจะสื่อให้ทราบ ของข้อความนี้ ก็ยังคงสมบูรณ์ ในตัวมันเองโดยครอบคลุม ประเด็นหลัก 2 ประเด็นด้วยกันคือ (1) ความเสี่ยง และ (2) ผลลัพธ์
ในเชิงวิชาการหลายท่านที่เป็นกูรู ด้านความเสี่ยง (ไม่ใช่กูรู้นะครับ) อาจคันไม้คันมือขึ้นมา และอยากเสนอแนะตรงนี้ก่อนว่า ในความเป็นจริงนั้นระหว่างความเสี่ยง กับผลลัพธ์ ยังต้องมีตัวเชื่อม อีกตัวหนึ่งได้แก่ความเสียหาย หรือความสูญเสีย มิฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่าง เหตุกับผลดังกล่าวจะขาดน้ำหนักเพราะลำพังแต่ เพียงเรื่องความเสี่ยง ย่อมไม่สามารถ จะทำอะไร หรือทำให้เกิดอะไร กับเราได้หากเราไม่เข้าไปข้องแวะกับมัน (ซึ่งก็คือ การที่เราไม่กระทำไม่เล่น หรือไม่ลงทุน เพราะเห็นว่า สิ่งที่กำลังจะทำ กำลังจะลงทุนนั้น มันเสี่ยงเกินกว่า ที่จะรับได้) แต่เมื่อเรา ตัดสินใจ ดำเนินการ ตามที่ได้ตัดสินใจ และเมื่อเวลา ทอดยาวผ่านไปผลลัพธ์ที่ได้ เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ หรือไม่ โดยความเสียหาย หรือความสูญเสีย ก็คือผลที่เกิดขึ้น ในด้านลบนั่นเอง(ขอละไว้ ในฐานที่เข้าใจ ซึ่งผลด้านบวกเพราะไม่ใช่ประเด็น ที่อยากนำเสนอครับ)
ประโยค หรือข้อความสั้นๆที่ว่า "เสี่ยงเกินไป" นี้ ในความเป็นจริงนั้น สั้นแต่ตัว หากแต่ยาวและลุ่มลึกในสาระการที่จะบอกได้ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้น เสี่ยงเกินไปหรือไม่แน่นอนว่า ต้องเห็น หรือพิจารณา ได้ก่อนว่ามันมีความเสี่ยง อะไรที่แฝงอยู่และความรุนแรง ของความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดนั้น (ซึ่งก็คือ ความเสียหาย หรือความสูญเสีย ตามที่ได้เกริ่น ไปแล้วในช่วงต้น) เกินหรือไม่เกิน กว่าความสามารถของตนเอง ที่จะรับได้ ทั้งหลายทั้งปวงนี้บ่งชี้ให้เห็นเป็นนัยถึงการที่แต่ละตัวบุคคล มักมีการกำหนด ระดับความเสี่ยง ที่ตนเองยอมรับได้ ต่อเรื่องนั้น ๆหรือ ต่อการกระทำในลักษณะนั้นๆ ไว้ก่อนเป็นเบื้องต้น (ไม่ว่ากฎเกณฑ์ การกำหนด จะเกิดจากประสบการณ์ หรือการเรียนรู้ไม่ว่าระดับและค่ากำหนด จะเป็นในรูปแบบเชิงคุณภาพ หรือปริมาณ ก็ตามที)
ในเรื่อง การลงทุนก็เช่นกันหัวใจสำคัญ ประการหนึ่ง ของการจัดการ ที่นักลงทุนทุกท่าน ต้องตระหนักให้ได้ ก่อนที่จะลงทุนก็คือการเข้าใจขีดความสามารถ ของตนเอง ในการที่จะแบกรับ ความเสี่ยง (ความสูญเสีย หรือ ความเสียหายนั่นเอง) หรืออีกนัยหนึ่ง โดยอ้างอิง ตามศัพท์แสงทางวิชาการ ซึ่งเรียกกันเสียไพเราะว่า"ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้"
มาถึง ณ จุดนี้ หลายๆ ท่านอาจจะนึกสงสัย ขึ้นมาอีกว่า สิ่งที่ว่ามานี้ มีความสำคัญมากขนาดนั้น เชียวหรือ? ก็ขออธิบายอย่างนี้ ก็แล้วกัน ในการบริหารความเสี่ยง ด้านการลงทุนนั้นนักลงทุน ควรที่จะพิจารณา ถึงระดับความเสี่ยง ที่ตนเองยอมรับได้ก่อน ที่จะประเมินทางเลือกต่างๆ ของการลงทุน เพราะทางเลือกที่แตกต่างกัน ของการลงทุน นำมาซึ่งระดับความเสี่ยง ที่ต่างกันดังนั้น หากสถานการณ์การลงทุน กลับตารปัตรความสูญเสียหรือความเสียหาย ที่เกิดขึ้นก็ยังอยู่ในวิสัย ที่ยอมรับได้ จัดการได้
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าระดับความเสี่ยง ที่ยอมรับได้ของเรา อยู่ที่เท่าไร? จะใช้เครื่องมืออะไร เป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ บ่งชี้? ในประเด็นเหล่านี้ ไม่ต้องกังวลกันนะครับ ถ้าท่านทั้งหลาย ตอนเข้ามาสู่web WealthMagik ในหน้าหลัก จะมี tab “MyIOS” หรือ ที่เรียกกันว่า “การกำหนดวัตถุประสงค์การลงทุน”อยู่ทางด้านซ้ายมือ นั่นแหละครับ คือคำตอบ หรือตัวช่วย ที่มองหากันอยู่ หากมีเวลาอยากให้คลิ๊ก เข้าไปใช้งานดู จะลองเล่นดูสักพัก ก็ไม่เสียหายอะไรดูซิว่าผลลัพธ์ที่ได้ ตรงกับใจเราที่คิด ไว้หรือเปล่า อย่างไรก็ตามเมื่อตัดสินใจแล้ว ว่าอยากที่จะเริ่มลงทุน ก็ขอให้ตอบคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องนี้อย่างจริงจังแล้วท่านจะได้รับประโยชน์ จากมันอย่างเต็มที่ครับ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการลงทุนครับ
Risky Rocky
ปล.: บทความข้างต้นเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับทางบริษัท