พฤติกรรม “จำนวนหนึ่ง” กับการลงทุน
ผมเฝ้าสังเกต พฤติกรรมของตัวเอง จนทำให้พบ เรื่องราวบางอย่าง ซ่อนเร้นอยู่ในระหว่าง ที่กำลังใช้ชีวิต ใช้เงินและใช้พลังงาน ผมเรียกมันว่า พฤติกรรม "จำนวนหนึ่ง" มันเป็นดังนี้
– เวลาที่เรา ประหยัดเงินได้ "จำนวนหนึ่ง" จะด้วยวิธีอะไรก็ตาม เช่นเลือกที่จะเดินกลับบ้าน แทนการใช้บริการ นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (ประหยัดทันที 20บาท) หรือเลือก ที่จะไม่ซื้อกาแฟโบราณ ร้านเจ้น้อง เจ้าประจำแต่ดื่มน้ำเปล่าเย็น ๆ แทน (ประหยัดทันที 18 บาท) เป็นต้นมันจะช่วยสร้าง แรงฮึกเหิมอะไรบางอย่าง
– และเมื่อ เราสามารถเก็บเงิน "จำนวนหนึ่ง" นั้นไว้กับตัวได้แล้วเหรียญอีกด้าน มันเหมือนจะมีแรงกระตุ้น และสร้างแรงจูงใจ ที่เราจะตัดสินใจใช้เงินมากกว่าปกติหรือบางครั้ง อาจจะเกินกว่าปกติด้วย เพียงเพราะว่า เราอุ่นใจว่าเรามีเงิน"จำนวนหนึ่ง" ก้อนนั้นมาเสริมการใช้จ่ายเรื่องอื่น ๆ แล้ว เช่น จากเดิมเคยกินข้าวราดแกง จานเดียว 35บาท น้ำแข็งเปล่าฟรี คราวนี้ถ้าเรามีเงิน ที่ประหยัดทันทีมาสัก 20บาท เราก็จะเริ่มคิด และเริ่มสั่งไข่เจียวเพิ่ม หรือสั่งปลาทูทอดเหลือง น่าทานอีก 1 ตัวหรือจะสั่ง น้ำอัดลมมาดื่ม ให้ชื่นใจสักหน่อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็อาจจะทำให้เรา ใช้เงินเกินจากเงิน"จำนวนหนึ่ง" ที่เราประหยัดมาได้ซะอีกสุดท้ายเงินในกระเป๋า ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือบางที อาจจะลดลง มากกว่าเดิม
ในโลกของการลงทุน และการวางแผน ทางการเงิน ซึ่งโดยหลักการแล้ว เราจะบรรลุเป้าหมาย ทางการเงินได้ ต้องมีการสำรวจ กระแสเงินสดส่วนบุคคล (รายรับ-รายจ่าย) ทรัพย์สินและหนี้สิน ควบคู่กับเป้าหมาย ทางการเงิน ซึ่งจะเกี่ยวข้อง กับจำนวนเงินที่จะบรรลุเป้าหมาย และระยะเวลา ที่จะบรรลุเป้าหมาย เมื่อทำแผนทางการเงินเสร็จแล้ว ก็ลงมือ Execute แผนนั้น ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
แต่ถ้าวิเคราะห์ทั้งหมดแล้ว แผนทางการเงิน ไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ อีกด้านของเหรียญ ก็จะมีข้อแนะนำอยู่ 4 อย่างที่จะช่วยปรับเพิ่มลดอะไรบางอย่างเพื่อให้ แผนทางการเงินดังกล่าว สามารถบรรลุเป้าหมายได้ สิ่งเหล่านั้นคือ
1) หาทางที่จะเพิ่มรายได้ จากรายได้ประจำ ที่ได้รับในแต่ละเดือน
2) เลือกที่จะลดรายจ่าย โดยเฉพาะในส่วน ที่เป็นค่าใช้จ่ายผันแปร
3) กำหนดให้เป้าหมาย มีขนาดเล็กลง
4) ทำการยืดระยะเวลา ของเป้าหมาย ให้ไกลออกไป
โดยหลักการแล้ว
– ข้อ 1 ทำได้ค่อนข้างยาก
– ข้อ 3 และ 4 ถ้าทำได้ มันค่อนข้าง กระทบกระเทือนจิตใจ ของผู้วางแผนทางการเงิน อยู่พอสมควร
– ข้อ 2 เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ทำได้ด้วยตนเอง และไม่ส่งผลทางลบ ต่อจิตใจมากนัก
ดังนั้น กับสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมา ถ้าเอาพฤติกรรม การใช้เงิน และเป้าหมายทางการเงิน มาพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น เราคงไม่ได้ทำแต่เพียง ลดรายจ่ายเท่านั้น เรายังต้องมีการปรับลด ละ เลิก พฤติกรรม "จำนวนหนึ่ง" ให้ได้ด้วย
เพราะว่ามันจะเป็น ตัวทำลายความสวยงาม ของประโยคที่ว่า เราสามารถลดรายจ่ายผันแปรได้แล้ว ให้กลายเป็นฝุ่นผงปลิวไปในอากาศ
และอาจจะก่อตัว กลายมาเป็นก้อนหินก้อนใหญ่ๆ ที่คอยแต่จะปิดปากอุโมงค์ ไม่ให้ได้พบแสงสว่าง ที่เรียกว่า "อิสรภาพทางการเงิน"
โชคดีในการลงทุนครับ…สาดคม ประกายดาบ