Thailand Web Stat

กองทุนส่วนบุคคล คืออะไร ?

ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ลงทุนหลายท่านที่ได้ยินชื่อ กองทุนส่วนบุคคล มาจากรายการ
ทางโทรทัศน์ แล้วโทรศัพท์เข้ามาสอบถามรายละเอียดที่ศูนย์ข้อมูลของสมาคม
บริษัทจัดการลงทุน เพราะเข้าใจว่ากองทุนส่วนบุคคลเป็นกองทุนที่จัดตั้ง ขึ้นมาเพื่อ
ให้บริการด้านสินเชื่อกับผู้ที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว
กองทุนส่วนบุคคลมี ความแตกต่างจากความเข้าใจของผู้ลงทุนโดยสิ้นเชิง

ความหมายของ กองทุนส่วนบุคคล

"การจัดการกองทุนส่วนบุคคล" มีความหมายตามประกาศของสำนักงาน
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ว่า
"การจัดการเงินทุน ของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้มอบหมายให้จัดการลงทุนเพื่อ
แสวงหาผลประโยชน์จากหลักทรัพย์ไม่ว่าจะมีการลงทุนในทรัพย์สินอื่นด้วยหรือไม่
ก็ตาม ซึ่งกระทำเป็นทางการค้าปกติ โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น"
ขอขยายความเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น การจัดการกองทุนส่วนบุคคล เป็นธุรกิจ
การรับบริหารเงินหรือทรัพย์สินให้กับบุคคลหรือคณะบุคคลที่ต้องการมีส่วนร่วม
กำหนดนโยบายการลงทุนของตนเอง โดยบริษัทจัดการจะลงทุนภายใต้กรอบ
และข้อจำกัดของการลงทุนตามที่ได้ตกลงสัญญาไว้กับลูกค้า

ทั้งนี้บริษัทจัดการจะขอข้อมูลของลูกค้าเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ภาระทางการเงิน ระยะเวลาในการลงทุน ประสบการณ์ในการลงทุนระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
และผลตอบแทนที่คาดหวัง เพื่อทำความรู้จักสถานะของลูกค้า (know your customer) และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายการลงทุนให้เหมาะสมกับลูกค้า (suitability) โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นผู้ที่มีจำนวนเงินทุนมากพอสมควร ซึ่งจะเป็นบุคคลหรือคณะบุคคลก็ได้ ทั้งนี้

  • บุคคล หมายถึง บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล
  • คณะบุคคล หมายถึง กลุ่มบุคคลตั้งแต่ 2 ถึง 35 ราย (โดยในคณะบุคคลใด
    คณะบุคคลหนึ่งนั้น จะประกอบด้วยบุคคลธรรมดาทั้งหมด นิติบุคคลทั้งหมด
    หรือบุคคลธรรมดากับนิติบุคคลคละกันก็ได้)
การจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล จะเป็นการทำสัญญากันระหว่างลูกค้ากับบริษัท
จัดการ หรือสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคล ฉะนั้น
กองทุนส่วนบุคคลจึงไม่ได้มีสภาพ เป็นนิติบุคคล กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยัง
คงเป็นของลูกค้า ชื่อเจ้าของทรัพย์สินก็ยังคงเป็นชื่อของลูกค้า โดยมีการระบุ
ชื่อของบริษัท จัดการควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าทรัพย์สินของลูกค้า
ที่บริหารโดย บริษัทจัดการใด และเนื่องจากกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของลูกค้า สัญชาติของกองทุนส่วนบุคคลจึงเป็นไปตามสัญชาติของลูกค้าด้วย ดังนั้นเมื่อ
หลักทรัพย์ ในกองทุนส่วนบุคคลได้รับ ผลประโยชน์ เช่น หุ้นที่ลงทุนไว้มี
การจ่ายเงินปันผล (dividend) หรือขายหุ้นแล้วได้ส่วนเกินจากมูลค่าเงินลงทุน
(capital gain) ลูกค้าก็จะต้องเสียภาษีในผลประโยชน์ที่ตนได้รับในอัตราภาษี
เช่นเดียวกับที่ลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์นั้น

การจัดการกองทุนส่วนบุคคลนั้นเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยต้องได้รับ
ใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)
เป็นสมาชิกของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน สังกัดกลุ่มธุรกิจกองทุน
ส่วนบุคคล

สรุปก็คือ กองทุนส่วนบุคคล ไม่ใช่กองทุนเพื่อการให้สินเชื่อแก่ผู้ที่ต้องการ
เงินทุนแต่เป็นกองทุนเพื่อผู้ที่มีเงินเก็บเงินออมจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว และต้องการ
ให้บริษัทจัดการบริหารให้เพิ่มพูนมากขึ้น โดยตนเองต้องการมีส่วนร่วมกำหนด
นโยบายการลงทุน แต่ไม่ต้องการหรือไม่มีเวลาบริหาร หรือดำเนินการด้วยตนเอง