UOBAM : Daily Update 30 พฤศจิกายน 2566
Daily Update 30 พฤศจิกายน 2566
— ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยในวันพุธ (29 พ.ย.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ เนื่องจากการส่งสัญญาณที่ไม่สอดคล้องกันของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ตลาดไม่มั่นใจเกี่ยวกับความยาวนานในการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,430.42 จุด เพิ่มขึ้น 13.44 จุด หรือ +0.04%,
ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,550.58 จุด ลดลง 4.31 จุด หรือ -0.09% และ
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,258.49 จุด ลดลง 23.27 จุด หรือ -0.16%
— ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวนเมื่อคืนนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาส่งสัญญาณที่สร้างความไม่มั่นใจให้กับตลาด โดยนายโธมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้ว่า เขาไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% หรือไม่ และเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหากเงินเฟ้อดีดตัวขึ้น
การแสดงความเห็นของนายบาร์กิน สวนทางกับที่นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการเฟดซึ่งกล่าวว่า เขามีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในขณะนี้อยู่ในระดับที่เข้มงวดมากเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% นอกจากนี้นายวอลเลอร์ยังส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้
ทิม คริสคีย์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Ingalls & Snyder กล่าวว่า “การส่งสัญญาณที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันของเจ้าหน้าที่เฟดทำให้ตลาดกังวลว่าเฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐค่อนข้างแข็งแกร่งและมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง ส่วนอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดอ่อนแรงลงนั้น มาจากการที่นักลงทุนขายทำกำไรหลังจากตลาดพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนนี้”
— กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2566 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 5.2% ซึ่งสูงกว่าการประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 4.9% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 5.0% โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนของภาคเอกชนและการใช้จ่ายของรัฐบาล
ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งที่สุด ขณะที่หุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสารร่วงลง
หุ้นบริษัทเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ปรับตัวลง โดยหุ้นไมโครซอฟท์ ร่วงลง 1% หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ ดิ่งลง 2% หุ้นแอปเปิ้ล ลดลง 0.5% หุ้นอัลฟาเบท ร่วงลง 1.6%
หุ้นเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) พุ่งขึ้น 9.4% หลังจากบริษัทประกาศซื้อหุ้นคืนมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเป็น 33%
หุ้นฟุตล็อกเกอร์ (Foot Locker) ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกอุปกรณ์กีฬารายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้นกว่า 16% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 3/2566 ที่ระดับ 30 เซนต์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 21 เซนต์
— นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนต.ค.ของสหรัฐในวันนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวขึ้น 3.1% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.4% ในเดือนก.ย. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 3.7% ในเดือนก.ย.
แหล่งที่มา : UOBAM
แหล่งข้อมูล: บล.เว็ลธ์ เมจิก